Wi-Fi 6E คืออะไร??
ก่อนอื่นเลย เรามาทำความรู้จักกับ Wi-Fi 6E กันก่อนเลยก็แล้วกัน…เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการต่อยอดมาจาก Wi-Fi 6 และ ณ ตอนนี้ เราอยู่ในยุคใหม่ที่รองรับการเชื่อมต่อไร้สายบนคลื่นความถี่ 6GHz ซึ่งเดือนมกราคมปี 2020 ทาง Wi-Fi Alliance ได้ประกาศเปิดตัว Wi-Fi 6E ที่เป็นมาตรฐานใหม่ของการเชื่อมต่อไร้สายแห่งอนาคต ที่มีคุณสมบัติและความสามารถสูงขึ้นจาก Wi-Fi 6 รุ่นธรรมดา โดยมีประสิทธิภาพสูงขึ้น, มีค่าความหน่วงหรือ Latency ที่น้อยลงและอัตราการรับ-ส่งข้อมูลที่เร็วขึ้นกว่าเดิม, มีช่องสัญญาณที่กว้างขึ้นและรองรับจำนวนการเชื่อมต่อมากกว่าเดิม
โดยทาง Wi-Fi Alliance กลุ่มมาตรฐานอุตสาหกรรมด้าน Wi-Fi ได้มองเห็นว่าคลื่นความย่านความถี่ 2.4GHz และ 5GHz นั้นมีคนใช้มากขึ้นและเริ่มจะไม่เพียงพอ แถมมีหน่วยงานกำกับดูแลอีกหลายประเทศที่เริ่มเปิดคลื่นย่านความถี่ 6GHz ออกมากันแล้ว จึงมีการเปิดตัว Wi-Fi 6E ขึ้นมา ซึ่งตัว “E” นั่นย่อมาจาก Extension ที่แปลว่า “ส่วนขยาย” โดยมีการเพิ่มความถี่อีก 1.3GHz – 1.8GHz และเพื่อให้ช่องสัญญาณใหญ่พอที่จะรองรับความเร็วสูง จำเป็นต้องมีช่องสัญญาณขนาด 160 MHz เพิ่มเข้ามา และมีอุปกรณ์หลายตัวที่ถูกนำมาทดสอบในล็อตแรก ไม่ว่าจะเป็น Broadcom, Intel, MaxLinear, MediaTek, Qualcomm และ Quantenna รวมไปถึงยังมีชื่อบริษัทฯ อื่นๆ ที่ถูกเข้าทดสอบด้วยอย่าง Cisco, Aruba, Linksys และ Samsung

และถ้าหากเทียบกับ Wi-Fi 6 ธรรมดาหรือเรียกชื่อเต็มๆ ว่า “802.11ax” ที่เปิดตัวเมื่อปี 2019 ใช้คลื่นความถี่ 2.4GHz และ 5GHz เป็นหลัก ซึ่งก็เร็วและแรงกว่า Wi-Fi 6 โดยจุดเด่นของ Wi-Fi 6 นั้นก็คือ มีอัตราการรับ-ส่งข้อมูลสูง, มีความจุสัญญาณมาก, ใช้พลังงานน้อยลง (เหมาะสำหรับอุปกรณ์ IoT) และรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่เป็นจำนวนมาก ซึ่งก็มีเทคโนโลยีและฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาจาก Wi-Fi 5 อยู่หลายอย่าง
Wi-Fi 6E ที่มีย่านความถี่ 6GHz รองรับการเชื่อมต่อในพื้นที่ที่มีผู้คนแออัด
แต่เมื่อ Wi-Fi 6E ได้เข้ามาแทรกอยู่ในยุคใหม่แล้ว เหล่า Wi-Fi 6 และ Wi-Fi รุ่นก่อนหน้านี้ ต้องหลบไป โดยมาตรฐานของ Wi-Fi 6E นั้นก็เหมือนกับ Wi-Fi 6 แทบจะทั้งหมดเลย แต่จะเพิ่มการทำงานบนย่านความถี่ 6GHz ที่จะมีความกว้างของช่องสัญญาณมากกว่า ซึ่งเดิมๆ ที่ใช้อยู่บนย่านความถี่ 2.4GHz และ 5GHz ซึ่งย่านความถี่นี้เริ่มไม่เพียงพอต่อผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้สมาร์ทโฟน, แท็บเล็ตและแล็ปท็อป ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ล้วนสามารถเชื่อมต่อ Wi-Fi ได้ รวมไปถึง อุปกรณ์ IoT (Internet of Things) ต่างๆ อีกด้วยที่รองรับการเชื่อมต่อ Wi-Fi เหมือนกัน แน่นอนว่า W-Fi นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญต่อผู้ใช้งานในปัจจุบันเป็นอย่างมากและปริมาณการใช้งานก็เพิ่มขึ้นอยู่เรื่อยๆ จึงทำให้เกิด Wi-Fi 6E เพื่อมารองรับอุปกรณ์ในอนาคตที่จะมีจำนวนมากขึ้นนั่นเอง

ยกตัวอย่าง…สำหรับคนที่อยู่บ้าน (บางครอบครัว) อาจจะต้องใช้ Wi-Fi เป็นหลัก ซึ่งภายในครอบครัวต้องมีมากกว่า 2 คนขึ้นไปอยู่แล้วล่ะ ยิ่งถ้าเป็นครอบครัวใหญ่ยิ่งแล้วใหญ่เลย ถ้าหากคลื่นสัญญาณไม่เพียงพอเกิดการกระตุก สะดุด หรืออะไรก็แล้วแต่ และอาจจะทำให้เสียอารมณ์ไปชั่วขณะ บางคนถึงขั้นโทรไปวีน ISP (Internet Service Provider) กันเลยทีเดียว ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจจะเกิดจากคลื่นความถี่ที่ใช้งานอย่างแออัด โดย Wi-Fi 6E นั้น จะเข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหาเรื่องเหล่านี้และได้รับการอัปเกรดขึ้นมาอีกขั้นจาก Wi-Fi 6 รุ่นธรรมดา ซึ่งแน่นอนว่า มันจะให้ผลลัพธ์โครงข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพทุกๆ สภาวะแวดล้อม
เมื่อย่านความถี่ 2.4GHz และ 5GHz ไม่เพียงพอแล้ว Wi-Fi 6E จึงเกิดขึ้น….ด้วยย่านความถี่ 6GHz
เมื่ออุปกรณ์ในปัจจุบันเยอะขึ้น จนเต็ม Bandwidth เจ้าตัว Wi-Fi 6E จึงเกิดขึ้น เข้ามาแทนที่ Wi-Fi 6 ที่มีย่านความถี่สูงกว่าอยู่ที่ 6GHz เพื่อรองรับอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นและจำนวนหลากหลายนั่นเอง โดย Wi-Fi 6E นั้นมีจุดเด่นที่ Wi-Fi 6 ธรรมดา ยังทำไม่ได้หรืออาจจะทำแล้วแต่ยังไม่ดีพอ ซึ่งก็อย่างที่บอกไปแหละว่า Wi-Fi 6E มาพร้อมกับคลื่นความถี่ย่าน 6GHz ทำให้ได้ความจุของสัญญาณเพิ่มมากขึ้นถึง 1200 MHz ซึ่งก็มากกว่า 2 เท่าเมื่อนำความจุสัญญาณของ 2.4GHz และ 5GHz มารวมกันซะอีก ซึ่งก็ทำให้ Wi-Fi 6E นั้นมีจุดเด่นหลักๆ เมื่อเราใช้งานในสถานที่ที่ต้องเชื่อมต่อเป็นจำนวนมาก รองรับผู้ใช้งานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า, สนามกีฬา, สถานีขนส่งผู้โดยสาร, โรงแรม, โรงงานอุตสาหกรรมหรือสถานที่ที่ต่างๆ ที่มีผู้คนเยอะแยะจอแจ

ด้วยความกว้างขนาดอยู่ที่ 1200 MHz ทำให้สามารถรองรับขนาดช่องสัญญาณ 160 MHz ได้ถึง 7 ช่อง และช่องความถี่ 80 MHz เพิ่มเติมได้ถึง 14 ช่อง ซึ่งก็มีความจำเป็นสำหรับแอปพลิเคชั่นที่ใช้ Bandwidth สูงในการส่งผ่านข้อมูลที่เร็วขึ้น อย่างเช่น การสตรีมวิดีโอระดับ 4K หรือสูงกว่านั้น, การใช้งานด้าน AR/VR/ ด้วยอุปกรณ์ Wi-Fi 6E จะใช้ประโยชน์จากช่องสัญญาณที่กว้างขึ้นและความสามารถเพิ่มเติมในการส่งมอบประสิทธิภาพเครือข่ายที่สูงขึ้น พร้อมทั้งรองรับผู้ใช้งาน Wi-Fi จำนวนมากในเวลาเดียวกันที่มีการใช้งานอย่างหนาแน่น ซึ่งจะช่วยลดความแออัดได้เป็นอย่างดี
และถึงแม้ว่าจะต้องเชื่อมต่อกับหลายอุปกรณ์ก็ตามแต่….ด้วย Wi-Fi 6E ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด ซึ่งก็มีความหน่วงแฝงในขณะเชื่อมต่อที่ต่ำมากๆ ไม่ถึงมิลลิวินาที ภายในระยะห่างไม่เกิน 3 เมตร จากเราเตอร์หรือ AP (Access Point) อีกทั้ง การให้บริการเครือข่ายไร้สายก็ดีขึ้นกว่าเดิมอีกด้วยนะ
Wi-Fi 6E สำคัญขนาดไหนกัน??
เทคโนโลยี Wi-Fi 6E นั้น ดูเหมือนว่าจะมาเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไปของ Wi-Fi 6 ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ซึ่งจุดเด่นของ Wi-Fi 6E มีอยู่หลายอย่างจากที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว มีคลื่นความถี่อยู่ที่ 6GHz ซึ่งมาพร้อมกับความจุสัญญาณที่มากขึ้น, ช่องสัญญาณที่กว้างขึ้น, สัญญาณรบกวนน้อยลง, ความหน่วงแฝงที่ต่ำมากและรองรับการใช้งานได้หลายอุปกรณ์ในคราวเดียว

ทั้งนี้ หลายฝ่ายให้ความเห็นที่ตรงกันว่า นี่คือการพัฒนาครั้งใหญ่ของ Wi-Fi ในรอบ 20 ปี ที่จะมาสร้างมาตรฐานใหม่ของการเชื่อมต่อไร้สาย
นอกจากนี้ เมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา ตามรายงานจาก Cisco ได้ระบุว่า ยอดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกประมาณ 3.9 พันล้านคน คิดเป็น 51% ของประชากรโลก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นถึง 5.3 พันล้านคนในปี 2023 ดังนั้นแล้ว Wi-Fi จึงจำเป็นต้องขยับไปใช้คลื่นความถี่ 6GHz ที่ให้ประสิทธิภาพที่สูงกว่า, ครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่าและรองรับเชื่อมต่อได้มากกว่า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการผู้ใช้งานได้อย่างเพียงพอ ซึ่ง ณ ตอนนี้ Wi-Fi 6 ที่มีคลื่นความถี่ 2.4GHz และ 5GHz นั้นไม่เพียงพอ ยิ่งอยู่ในชุมชนหรือสถานที่ที่แออัดแล้ว จะไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สมาร์ทโฟน Android ที่รองรับ W-Fi 6E
- Google Pixel 6 และ Google Pixel 6 Pro
- Samsung Galaxy S21 Ultra
- Redmagic 6s Pro
- Samsung Galaxy Z Fold 3
- Motorola Edge (2021)
- Asus Zenfone 8
- ROG Phone 5s
** Wi-Fi 6E จะรองรับสมาร์ทโฟนอีกหลายรุ่นที่กำลังเปิดตัวในปี 2022 มาพร้อมกับคลื่นความถี่ 6GHz ซึ่งจะพร้อมใช้งานมากขึ้นในโซนเอเชียและยุโรป ซึ่งผู้ใช้งานจะเพลิดเพลินกับการเชื่อมต่อ Wi-Fi ที่เร็วขึ้นกว่าเดิม
นำเสนอข่าวโดย : StepGeek
ที่มา : windobi I androidcentral I Wi-Fi Alliance