เทคโนโลยีต้องก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีที่สิ้นสุดแล้วยิ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่ยังไม่ยอมไปจากเราง่ายๆ มีแต่จะทำให้เกิดผลกระทบไปทั่วทุกมุมโลก แน่นอนว่าเหล่านักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ต่างก็หยิบนู่นหยิบนี่มาทำการทดลองและทดสอบไปเรื่อยๆ เพื่อนำมารักษาให้กับผู้ที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 และทุกครั้งก่อนออกจากบ้านจะต้องเตรียมแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือและสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้ง ซึ่งหลายคนต่างก็บ่นถึงเรื่องหน้ากากอนามัยที่จะต้องเปลี่ยนบ่อยๆ แล้วต้องหาซื้อกันบ่อยๆ ในราคาที่ไม่ปกติ (หมายความว่ามีราคาที่แพงกว่าเดิม) หรือบางคนซื้อหน้ากากอนามัยมาแบบซักได้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งก็อาจจะทำให้ไม่สะดวกสบายและทำให้เสียเวลา
ซึ่งล่าสุด นักวิจัยชาวอิสราเอลที่มืชื่อว่า Yair Ein-Eli จากมหาวิทยาลัย Technion ในเมือง Haifa ซึ่งเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 4 ของประเทศอิสราเอล ได้คิดค้นและประดิษฐ์หน้ากากอนามัย PPE ที่สามารถนำกลับมาใช้งานได้ใหม่อีกครั้ง โดยหน้ากากนี้จะสามารถทำความสะอาดและฆ่าเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ด้วยความร้อน เพียงใช้ความร้อนจากการที่ชาร์จแบตเตอรี่สมาร์ทโฟนที่ผ่านการชาร์จจากสาย USB
ตามรายงานข่าวจาก Reuters ได้เผยว่า กระบวนการฆ่าเชื้อโรคบนหน้ากากอนามัยนั้นจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที โดยโครงสร้างของหน้ากากอนามัยนั้นจะมีพอร์ต USB เพื่อเสียบกับที่ชาร์จแบตเตอรี่สมาร์ทโฟน เพื่อส่งความร้อนไปยังด้านในของหน้ากากอนามัย ที่มีชิ้นส่วนของคาร์บอนอยู่ด้วยอุณหภูมิ 70 องศาเซลเซียส ซึ่งก็เป็นอุณหภูมิที่ร้อนพอที่จะฆ่าเชื้อไวรัสได้ แต่ในขณะที่ชาร์จอยู่นั้นไม่ควรสวมใส่หน้ากากอนามัย
ด้านในของหน้ากากอนามัยนั้นจะประกอบไปด้วยชั้นคาร์บอนไฟเบอร์หรือเส้นใยคาร์บอนที่กระจัดกระจายเป็นเนื้อเดียวกันอยู่ภายในหน้ากากอนามัย ทั้งนี้ ทางนักวิจัยยังกล่าวอีกว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 นั้น หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วทิ้งก็ยังมีความต้องการสูงมากทั่วโลก ดังนั้นแล้ว เขาจึงได้พัฒนาและหาวิธีการแก้ไขปัญหาหน้ากากอนามัยที่ขาดแคลนด้วยการประดิษฐ์หน้ากากอนามัยที่สามารถใช้ซ้ำและสามารถทำความสะอาดพร้อมฆ่าเชื้อโรคได้ แถมยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกต่างหาก
นอกจากนี้ สำหรับใครที่กังวลเรื่องการชาร์จไฟแบบซ้ำๆ แล้วจะเกิดปัญหาต่อหน้ากากอนามัยนั้นก็หมดห่วงไปได้เลย เพราะเนื่องจากนักวิจัย Yair Ein-Eli ได้ทำการทดสอบและทดลองชาร์จซ้ำๆ เป็นจำนวน 20 ครั้ง ก็พบว่ายังสามารถใช้งานได้ปกติและไม่เกิดผลเสียต่อหน้ากากอนามัยแต่อย่างใด ส่วนราคานั้นคาดว่ามีราคาที่แพงกว่าหน้ากากอนามัยทั่วไปประมาณ 1 ดอลลาร์ หรือประมาณ 30 บาท
นำเสนอข่าวโดย : StepGeek.TV
ที่มา : reuters