ด้านการแพทย์ล้ำไปอีกขั้น เมื่อ AI (Artificial Intelligence) สามารถคิดค้นยาเพื่อนำมาใช้กับมนุษย์เป็นครั้งแรก ที่ถูกสร้างโดยบริษัทสตาร์ทอัพอย่าง Exscientia จากประเทศอังกฤษและบริษัทผู้ผลิตยา Sumitomo Dainippon Pharma ของประเทศญี่ปุ่น ได้ร่วมมือพัฒนาขึ้นมา และยาที่ปัญญาประดิษฐ์ได้คิดค้นขึ้นมาจะถูกนำมาใช้กับผู้ป่วยโรคย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsive disorder : OCD)
โดยทั่วไปแล้วการพัฒนายาตัวหนึ่งขึ้นมาจะใช้ระยะเวลาในการทดลองประมาณ 5 ปีกว่าจะนำมาใช้รักษาคนได้จริงๆ แต่เทคโนโลยี AIใช้ระยะเวลาการพัฒนาเพียง 12 เดือนหรือ 1 ปีเท่านั้นเอง ถือว่าเป็นความสำเร็จที่สำคัญสำหรับวงการแพทย์ เพื่อที่จะได้นำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยและพัฒนายาต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิม
ทาง Andrew Hopkins ผู้บริหารสูงสุดของบริษัท Exscientia ที่ประเทศอังกฤษ ได้อธิบายว่า เขาเคยเห็นการนำเทคโนโลยี AI มาใช้วินิจฉัยโรคต่างๆ แล้ว ด้วยการป้อนข้อมูลผู้ป่วยและภาพสแกนของโรคต่างๆ เข้าไปให้ AI ได้เรียนรู้ จนสามารถวิเคราะห์และตรวจหาความผิดปกติของร่างกายได้ แต่ครั้งนี้จะเป็นการใช้ AI เพื่อช่วยพัฒนาตัวยาใหม่ๆ ในการรักษาโรคให้กับมนุษย์โดยตรง
โดยยาตัวนี้มีชื่อว่า DSP-1181 ที่พัฒนาโดยการใช้อัลกอริทึ่มดูส่วนผสมของตัวยาในฐานข้อมูล จากนั้นก็เลือกส่วนผสมมาสร้างเป็นสูตรยาที่ต้องการ และอัลกอริทึ่มตัวนี้ยังสามารถใช้คิดสูตรยาสำหรับโรคอื่นๆ ได้อีกด้วย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นโรคย้ำคิดซ้ำทำเท่านั้น ซึ่งทางศาสตราจารย์ Hopkins ได้กล่าวว่า มีการตัดสินใจอยู่หลายล้านพันครั้งเพื่อค้นหาสูตรยาที่ถูกต้อง
ยาตัวแรกที่ AI คิดค้นจะก้าวเข้าสู่การทดลองกับผู้ป่วยที่ประเทศญี่ปุ่นก่อน ถ้าหากประสบความสำเร็จก็จะขยายการทดสอบไปยังประเทศอื่นๆ เพิ่มเติม นอกจากนี้ ทางบริษัทยังเพิ่มศักยภาพและพยายามในการคิดค้นตัวยาที่จะสามารถทำมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็งและโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งหวังว่าจะได้ค้นพบยาตัวใหม่และพร้อมที่จะนำไปทดสอบภายในสิ้นปีนี้อีกด้วย
นอกจากนี้ ทางศาสตราจารย์ Hopkins ยังกล่าวอีกว่า ปีนี้จะเป็นครั้งแรกที่มีเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยคิดค้นสูตรยาและภายในสิ้นปีนี้ยาใหม่ทั้งหมดอาจจะถูกสร้างขึ้นโดย AI ด้วย ซึ่งเป็นอีกก้าวที่สำคัญของเทคโนโลยี AI ที่มีศักยภาพและสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ มากกว่าที่หลายคนคิดเสียอีก
นำเสนอข่าวโดย : StepGeek.TV
ที่มา : bbc